สงครามเทวดา

เทวอสูรสงคราม ๑
เทวอสูรสงคราม ที่นำมาร้อยเรียงและเขียนขึ้นมาใหม่นี้มีทั้งหมด ๕ ตอน   ได้แรงบันดาลใจมาจาก ความแตกแยกของคนในชาติ  เมื่อครั้งสมัยพันธมิตรและนปช.เกิดขึ้นใหม่ๆ  ว่าเหตุใดกันแน่ผู้คนจึงได้มีความคิดไปคนละทาง  ไม่สามารถจะพูดคุย  เจรจาตกลงอะไรกันได้  ใครถูกใครผิดไม่ขอพูดถึง   เห็นมีแต่ปรัชญาเทวดาและอสูร    เรื่องที่บรรพชนเขียนไว้เท่านั้นที่พอจะอธิบายปรากการณ์นี้ได้   ลองอ่านเล่นๆดูครับ ผมเรียบเรียง ตีความ ขยายความ  เพิ่มเติม ตัดออกตามความคิดตนเองถูกผิดประการใดถือเป็นเรื่องความเข้าใจของปัจเจกบุคคลครับ

เรื่องเทวดากับอสูร เป็นฉากหนึ่งของเรื่องโลกธาตุที่บูรพาจารย์ได้ผูกเรื่องราวเอาไว้ด้วยเจตนาซ่อนปริศนาธรรมแขวงเอาไว้  เป็น เรืองที่ทำให้ข้าพเจ้าหลงใหล ครุ่นคิดถึงปริศนาที่ซ่อนเร้น      กับเรื่องโลกธาตุพลังงานอัตตาระดับละเอียดอ่อน  เรื่องของพลังงาน สสาร ไฟฟ้า อุตตุ หยินหยาง โหราศาสตร์ ฯลฯ ร้อยเรียงเรื่องราวแทนด้วยสงคราม จากภาคสวรรค์และโลกมนุษย์
   
บทที่ ๑ เรื่องเดิมตามตำนาน และคำภีร์



ในยุคพระเวท สมัยก่อนพุทธกาล ท้าวความตามคำภีร์เก่าแก่ ของชนเผ่าอารยัน คือคัมภีร์อเวสตะ ของอิหร่าน กับคัมภีร์คฤเวทของอินเดียได้กล่าวถึงการทำสงครามระหว่าง เทวดากับอสูร ไว้คล้ายๆ กัน แต่ค้นหาอ่านเรื่องราวตามตำนานทางฝ่ายอิหร่านแทบไม่ได้เลย

ประเทศไทยซึ่งได้รับอิทธิพลทางอินเดีย เป็นหลัก จึงมีตำนานตามฝ่ายอารยธรรมอินเดียเป็นส่วยใหญ่ โดยตามตำนานกล่าวไว้แต่เดิมว่า   มีเทวดาพวกหนึ่ง เรียกว่า เนวาสิกเทวบุตร (เทวบุตรผุ้อยู่ประจำ) อาศัยอยู่บนบนยอดเขาสุเมรุ เรียกว่า เทวโลก   มีท้าวเวปจิตติเป็นหัวหน้า อาศัยอยู่ด้วยความเพลิดเพลินในกามคุณ ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สำผัส มานานแสนนาน

กาลต่อมา ณ ที่ดินแดนมนุษย์โลก ได้มีมาณพนาม “มฆะมาณพ” เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่ อจลคามในอาณาจักร มคธ ได้เป็นผู้บำเพ็ญ วัตตบท ๗ ประการ **กับภรรยา ๔ คน ได้ชักชวนเพื่อนอีก ๓๒ คน ร่วมกันสร้างกุศลกรรมต่างๆ ครั้นตายลง มฆะมาณพกับพวกเพื่อน ๓๒ คน และภรรยา ๓ คน (ขาดนางสุชาดา) ได้ไปเกิดในเทวโลกบนยอดเขาสุเมรุ ที่พวกเนวาสิกเทวบุตรอยู่

เนวาสิกเทวบุตร เห็นมีเทวดามาใหม่จึงได้จัดเลี้ยงต้อนรับฉลองเหล่าเทพเทวดามาใหม่กันแบบเต็มที่ และที่ขาดไม่ได้ในงานเลี้ยงก็คือน้ำคันธปานะ หรือหากคิดกับสังคมคนในโลกมนุษย์ก็คงเป็นสุราชั้นดีนั่นเอง และก็บอกกล่่าวว่าจะยินดีแบ่งเทพนครให้ไปครองกึ่งหนึ่ง  เมื่อเทพบุตรเจ้าถิ่นพร้อมกับบริวารของตน ตกแต่งน้ำคันธบานให้อาคันตุกะเทพบุตรแล้ว พวกตนก็ดื่มกินกันอย่างไม่ยั้งสนุกสนานกันเต็มที่


แต่เทวดาที่มาใหม่ต้องการครองเทพนครทั้งหมด จึงนัดแนะบริวารของตนเองไว้ก่อนแล้วว่า ไม่ให้ดื่มน้ำคันธปานะหรือน้ำเมาของสวรรค์จนเมามาย แค่จิบๆให้พอพวกเขารู้ว่าดื่มด้วยแล้วก็พอ แต่ให้ทำทีเหมือนหนึ่งว่าดื่มและเมาเต็มที่จริง ๆ เมื่อพวกเนวาสิกเทว  ดื่มน้ำคันธปานะจนมึนเมามายสนุกสนานเฮฮากันจนไร้สติหลับไหลแล้ว พวกเทวดาใหม่จึงช่วยกันจับท้าวเนวาสิกเทวบุตร และบริวาร เหวี่ยงลงไปในสีทันดรมหาสมุทรที่เชิงเขา เขาสุเมรุ

แต่ด้วยบุญญานุภาพของพวกเนวาสิกเทวบุตรที่เคยสร้างสมมา จึงดลบันดาลให้มีอสูรภิภพเกิดขึ้น ณ เบื้องล่างเขาพระสุเมรุ เป็นภูเขาสามยอดชื่อตรีกูฏมหาบรรพต เป็นเทพนครที่สวยสดงดงาม กว้างใหญ่รุ่งเรืองคล้ายกับดาวดึงส์พิภพทุกประการ   นครแห่งนี้นี้จะมีนํ้าล้อมรอบกำแพงเมืองอยู่เสมอมิได้ขาด จนพวกเนวาสิกเทว ไม่รู้ตัวเองเลยว่าตัวเองไม่ได้อยู่ที่วิมานเดิมบนยอดเขาสุเมรุ จนกระทั่งถึงฤดูที่ดอกไม้บาน เมื่อท้าวเนวาสิกเทว ได้มาเดินชมดอกไม้ประจำเมืองออกดอกแล้ว  สังเกตุเห็นดอกไม้ไม่เหมือนกับดอกปาริชาติในเมืองสวรรค์   จนท้าวเนวาสิกทวจึงรู้ได้ว่าตนโดนเทวบุตรใหม่หักหลังเสียแล้ว แค้นนี้จึงได้ใหญ่หลวงนัก รอวันชำระคืนเท่านั้น ต่อมาต้นไม้ในเมืองอสูรนี้ ได้ชื่อว่า จิตตปาลี (แปลว่าต้นแคฝอย) และถูกบัญญัติเป็นต้นไม้ประจำพิภพของอสูรตลอดมา

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาดินแดนแห่งนี้จึงได้ชื่ออสูรพิภพ กว้างขวางถึง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ใต้เขาพระสุเมร สำหรับความเป็นอยู่ในอสูรพิภพนี้ พวกอสูรมีความเป็นอยู่เช่นเดียวกับทวยเทพทั้งหลาย คือ เสวยสุขอันเป็นทิพย์ทุกอย่าง มีแต่ความสดชื่นรื่นเริงใจ มิต้องลำบากยากเข็ญ เหมือนพวกอสุรกายหรือยักษ์ทั่วๆ ไป เป็นเพราะอำนาจกุศลกรรมที่เหล่าอสูรได้ทำไว้แต่ปางก่อน   และจากผลอันเกิดจากการดื่มน้ำเมาครั้งนั้น จอมเทพได้สั่งสอนบริวารว่า “ชาวเราทั้งหลาย แต่นี้ต่อไปพวกเราอย่าได้ดื่มนํ้าคันธบานที่มีฤทธิ์ร้ายอีกเลย เพราะการดื่มนํ้าคันธบานนี่เอง พวกเราจึงต้องได้รับความอัปยศอดสูใจในครั้งนี้ยิ่งนัก” จากนั้นต่างพร้อมใจงดเว้นการดื่มนํ้าคันธบานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


ส่วนเทวโลกเดิมที่อยู่บนยอดเขาสุเมรุ ก็กลายเป็น สุทัศนเทพนคร โดยมฆะมาณพได้เป็นจอม เทวดา  ต่อมาเรียพระอินทร์ คือท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่ของเทวดา        ส่วนนายช่างของ มฆะมาณพไปเกิดเป็น วิสสุกรรมเทวบุตร นายช่างเทวดา  ภรรยา ๓ คน คือ นางสุธัมมา นางสุนันทา นางสุจิตรา ก็ไปเกิดเป็นมเหสีของพระอินทร์    มีวิมาน มีอุทยาน มีสระโบกขรณี มีต้นปาริฉัตร (คล้ายต้นทองหลาง) มีเวชยันต์ปราสาท เวชยันต์ราชรถ และอื่นๆ เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของ ท้าวสักกะกับมเหสีและเทวดา ๓๒ องค์ ซึ่งสร้างกุศลร่วมกันมา ตั้งแต่นั้น สวรรค์ชั้นนี้จึงมีนามว่า ดาวดึงส์เทพนคร (นครของเทวดา ๓๒ องค์) ท่านกล่าวว่า เทพนครกับอสูรนครนั้น มี สมบัติเท่าเทียมเสมอกัน

ปาริชาติบานที่สวรรค์ดาวดึงส์ (สมมุติ )

ในอสูรพิภพมีการแบ่งเขตปกครองเป็นเขตเหมือนชาวสวรรค์ ได้แก่ ทางด้านทิศตะวันออก มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ท่านท้าวสัมพรอสูร  ทรงเป็นองค์อธิบดีปกครอง แล้วทรงแต่งตั้งให้ไพจิตตาสูรเป็นองค์อุปราช ทางด้านทิศใต้ ท้าวอสัพพราสูรเป็นองค์อธิบดี มีท้าวสุลิอสูรเป็นองค์อุปราช ด้านทิศตะวันตก มีท้าวเวลาสูรเป็นองค์อธิบดี มีท้าวปริกาสูรเป็นองค์อุปราช  และด้านทิศเหนือ ท้าวพรหมทัตตาสูรเป็นองค์อธิบดี มีท้าวอสุรินทราหูเป็นองค์อุปราช


ท้าวสัมพรอสูรทรงเป็นใหญ่ในอสูรพิภพ   บริบูรณ์ด้วยอิสริยยศเช่นเดียวกับพระอินทร์บนดาวดึงส์พิภพทุกอย่าง    เมื่อใดก็ตามที่พวกอสูรเห็นต้นแคฝอยออกดอกบานสะพรั่ง เหล่าอสูรก็จะหวนระลึกนึกถึงความหลัง เมื่อครั้งที่ยังอยู่บนเทวนครดาวดึงส์ ซึ่งมีต้นปาริฉัตรเป็นไม้ประจำเทพนคร และทุกครั้งที่ย้อนนึกถึงความหลัง   เหล่าอสูรก็รู้สึกโกรธเคืองแค้นต่อเหล่าทวยเทพในดาวดึงส์พิภพ จึงพากันชักชวนยกทัพขึ้นไปทำสงครามกับพระอินทร์ บนเทวโลกอยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์

สงครามระหว่างเทวดากับอสูรรบกันนั้น ปรากฏว่า ฝ่ายอสูรเป็นฝ่ายปราชัยมากกว่ามีชัย เมื่อท้าวสัมพรอสูรผู้เป็นใหญ่ หนีมาพบบรรณศาลาของโยคีฤๅษีสิทธาทั้งหลาย ก็เข้าใจเอาเองว่า องค์อินทร์คงมีฤๅษีเหล่านี้เป็นองคมนตรีที่ปรึกษา ทำให้ฝ่ายตนพ่ายแพ้ปราชัยอยู่เสมอ คิดเช่นนั้นแล้ว จอมอสูรก็สั่งการบริวารให้รื้อบรรณศาลาของฤๅษี เท่านั้นยังไม่พอ จอมอสูรยังให้บริวารทุบต่อยหม้อนํ้าและทำลายบริขารของฤๅษี

ฤๅษีทั้งหลายได้เหาะไปปรับความเข้าใจกับจอมอสูรว่า “อาตมภาพทั้งปวง มิได้เกี่ยวข้องในการรบนี้ ขออย่าให้เราต้องลำบากเลย ขอบพิตรจงให้อภัยเสียเถิด” สัมพรอสูรได้ฟังแล้ว ก็ไม่พอใจ จึงกล่าวปรักปรำว่า “พวกท่านพอใจที่จะคบหากับพระอินทร์ซึ่งเป็นผู้ผิด แล้วกลับมาขออภัยต่อข้า  เราไม่ยอมให้อภัยพวกท่าน และยังคิดที่จะเบียดเบียนพวกท่าน ให้ได้รับความลำบากอีกด้วย”

เหล่าฤๅษีเห็นว่าจอมอสูรยังมีความโกรธ ไม่ยอมสงบศึกอย่างสันติวิธี  จึงกล่าวตักเตือนว่า “ดูก่อนอสูรผู้ใจบาป เราทั้งปวงนี้มีความประสงค์จะขออภัย ไยท่านกลับให้ภัยแก่เราเสียเล่า เราใคร่จะขอรับแต่อภัยอย่างเดียว  เมื่อท่านมาให้ภัยอย่างนี้ เรามิรับดอก ภัยนั้นจงตกอยู่กับตัวท่านเองเถิด สัมพรอสูรเอ๋ย ธรรมดาว่า พืชทั้งปวงที่บุคคลหว่านลงไป คราวเมื่อจะได้ผล ก็ให้ผลไม่ผิดกับชนิดพืชเลย ฉันใดก็ดี บุคคลทำการกุศล ก็จักพลันได้ซึ่งผลแห่งกุศลนั้นอย่างแน่นอน แต่สำหรับบุคคลบาปหยาบช้า ก็อย่าหมายเลยว่าจะไม่ได้รับผลแห่งความชั่ว ตัวท่านให้ภัยแก่เหล่าอาตมภาพ ท่านก็จักได้รับภัยในไม่ช้านี้ ฉันนั้น”

จากนั้นเหล่าฤๅษีต่างพากันเหาะกลับอาศรมตามเดิม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สัมพรอสูรก็ไม่เป็นอันจะกินจะนอนเลย มีแต่หวาดเสียวสะดุ้งจิตหวาดหวั่นอยู่เป็นนิตย์ เฝ้าแต่คิดกลัวภัยที่ดาบสกล่าวติเตียนเอาไว้ เมื่อจะเอนหลังลงสู่ที่นอนในยามราตรี ก็มีอันให้เห็นศัตรูมาแวดล้อมกลุ้มรุม และจะเอาหอกหลาวทิ่มแทง ทำให้ต้องหวาดผวาลุกขึ้นมาทันที

ด้วยเหตุนี้ หมู่อสูรต่างพากันแตกตื่นเป็นห่วง และมาเยี่ยมเยียนไต่ถามถึงอาการมิได้ขาด เมื่อถูกถามเช่นนี้ สัมพรอสูรก็มิกล้าเล่าความจริง เกรงว่าจะได้รับความอับอาย จึงปกปิดไม่บอกความจริงใดๆ ครั้นเวลานอนหลับ นิมิตร้ายนั้นก็มาปรากฏให้เห็นอีก ทำเอาจอมอสูรเป็นไข้ใจ กลายเป็นเทพอ่อนแอทั้งกายและใจ มีจิตหวาดหวั่นตกใจกลัวอยู่เป็นนิตย์ จึงได้รับขนานนามใหม่ว่า ท้าวเวปจิตติ หมายถึงจอมอสูรผู้มีจิตหวาดหวั่น



นี่ก็เป็นประวัติการอุบัติขึ้นของ เทวและอสูรพิภพ ของนักปราชญ์สมัยโบราณ ท่านได้รจนาไว้เพื่อที่จะบอกเรื่องราวอันใดแก่พวกเรารุ่นหลัง ก็แล้วแต่ภมิปัญญาของลูกหลานจะตีความเอา สำหรับผมแล้ว เรื่องราวขอองนักปราชญ์โบราณผมจะมองเป็นเรื่องอุปมาอุปมัย ตีความไปตามเรื่องโลกธาตุ อุตุ เรื่องไฟฟ้า หยินหยาง หรือแล้วแต่เรื่องอันใดก็ได้ที่ผมเข้าใจ เพราะยังมิได้บรรลุธรรมฌานทัศนะอันประณีต ผิดถูกประการใดก็ขึ้นอยู่กับภมิรู้ภูมิธรรมของผู้อ่านเช่นกันครับ


** วัตตบท ๗ ประการ คือ (คุณความดียุคแรกที่ทำให้ไปจุติเป็นเทวดา)


1. เลี้ยงดูและมีความเคารพในพ่อแม่ 

2. เคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่  
3. กล่าววาจาสุภาพอ่อนหวาน
4. ไม่กล่าวคำส่อเสียด กล่าวแต่วาจาสมานสามัคคี     
5. ชอบเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติตนเป็นคนตระหนี่
6. มีความสัตย์ กล่าวแต่คำที่เป็นจริง     
7. ระงับความโกรธด้วยขันติธรรม



เครดิต เวปไซด์ บ้านจอมยุทธ วัดธรรมกาย และฯ

                                                     เทวอสูรสงคราม ๒   พินิจฯ.เรื่องตามตำนาน

ไม่มีความคิดเห็น: